ตรวจเอชไอวี ควรไปเมื่อไหร่ดี ?

เมื่อไหร่ควร ตรวจเอชไอวี

หากคุณสงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี ทางเลือกที่ดีที่สุด คือ การรีบปรึกษาแพทย์ หรือสถานพยาบาล เพื่อทำการ ตรวจเอชไอวี โดยเร็ว ไม่จำเป็นต้องรอให้แสดงอาการ เพราะความจริงนั้น ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวเลยว่าได้รับเชื้อมาเรียบร้อยแล้ว มันไม่มีสัญญาณใด ๆ ระบุได้ว่าอาการไหน คือคนที่ติดเชื้อแล้ว จนกว่าคนนั้นจะได้ทำการเจาะเลือด

ข้อดีของการตรวจหาเชื้อเอชไอวี

การตรวจหาเชื้อเอชไอวี มีข้อดีหลายประการ ดังนี้

  • ช่วยให้ทราบสถานะการติดเชื้อ
  • ช่วยให้วางแผนการรักษาได้ทันท่วงที
  • ช่วยให้ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น
  • การรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ช่วยให้ผู้ติดเชื้อ HIV มีชีวิตยืนยาว และมีสุขภาพดี
  • ช่วยป้องกันการเกิดโรคฉวยโอกาส
  • การทราบสถานะการติดเชื้อ ช่วยให้คลายกังวล ช่วยให้ตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตได้อย่างมั่นใจ

รู้จัก WINDOW PERIOD กันก่อน!

ระยะฟักตัว หรือ Window Period อธิบายง่าย ๆ คือ ช่วงเวลาที่คุณได้รับเชื้อเอชไอวีมาแล้ว แต่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Anti-body) ยังตรวจไม่พบเชื้อ ทำให้การเจาะเลือดตรวจในช่วงนี้ยังไม่พบเชื้อไวรัสเอชไอวี โดยปกติแล้วระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จะสามารถตรวจจับเชื้อเอชไอวีได้ที่ประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งแต่ละคนก็ใช้เวลาไม่เท่ากัน เพราะการตอบสนองของร่างกายต่อเชื้อไวรัสนั้นแตกต่างกัน เราจึงจำเป็นต้องรอระยะเวลาที่จะสามารถตรวจเอชไอวีพบเชื้อได้นั่นเอง

แบบไหนควร ตรวจเอชไอวี?

แบบไหนควร ตรวจเอชไอวี
  • ไม่สวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • เกิดอุบัติเหตุโดนเข็มฉีดยา กรณีที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์
  • ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือมึนเมาไม่ได้สติขณะมีเพศสัมพันธ์
  • มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในช่วงระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา

ต้องรอกี่วันถึงไปตรวจเลือดได้?

ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีความก้าวไกลมาก ณ ปัจจุบัน ทำให้มีการพัฒนาชุดตรวจเอชไอวีที่ใช้กรรมวิธีที่แตกต่างกันไป ดังต่อไปนี้

การตรวจหาแอนติบอดีของเชื้อเอชไอวี (ANTI-HIV)

แอนติบอดีนั้น ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อต่อสู้กับเชื้อร้ายที่เข้ามาสู่ร่างกายโดยตรง ตามระบบภูมิคุ้มกันธรรมชาติของคนเรา โดยจะสามารถตรวจพบได้ในช่วงระยะเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ถึง 1 เดือนขึ้นไป หลังได้รับเชื้อมาแล้ว การตรวจเอชไอวีวิธีนี้ จึงเป็นการตรวจจับแอนติบอดีในเลือดของเรานั่นเอง หากตรวจพบก็แสดงว่าร่างกายได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวีเข้าไปจริง ๆ เพราะเจ้าแอนติบอดีออกมาต่อสู้กับเชื้อ ทั้งนี้ หากต้องการความมั่นใจควรตรวจซ้ำหลังจากนี้ 3 เดือน เพื่อให้ร่างกายมีเวลาผลิตแอนติบอดีมากพอ และเป็นการยืนยันผลตรวจที่แน่นอนอีกครั้ง

การตรวจเอชไอวีด้วยเทคนิค PCR

PCR (Polymerase Chain Reaction) เป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมในระดับอณูชีวโมเลกุล โดยสามารตรวจได้แม้แต่กระทั่งเด็กทารกที่อาจได้รับเชื้อเอชไอวีจากแม่ ตั้งแต่ช่วงอายุ 1 เดือน หากคุณตั้งครรภ์ การตรวจเอชไอวีเป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากคุณมีเชื้อ จะสามารถวางแผน และป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่เด็กในครรภ์ได้ หรือใช้ตรวจในผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยง 14 วันขึ้นไป ซึ่งเป็นวิธีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีที่ทำให้การวินิจฉัยโรคเพื่อทำการรักษาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การตรวจเอชไอวีแบบแนท (NAT)

NAT : Nucleic Acid Testing เป็นวิธีการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อโดยตรงที่มีความรวดเร็วที่สุด และยังมีความแม่นยำสูง โดยผู้ที่มีความเสี่ยงต่อเชื้อเอชไอวีมาเพียง 7 – 14 วันขึ้นไป ก็สามารถตรวจได้ ไม่จำเป็นต้องรอระยะเวลานานเหมือน 2 วิธีข้างต้น แต่ผู้ที่ตรวจด้วยวิธีนี้ แพทย์จะแนะนำให้กลับมาตรวจซ้ำอีกครั้งที่ 1 เดือน เพื่อยืนยันผล

ตรวจเอชไอวี ได้ที่ไหน?

ตรวจHIVที่ไหน

คนไทยทุกคน สามารถตรวจเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ที่โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ แต่ก็มีหลายคนที่ไม่อยากรอคิวนาน รอฟังผลนานด้วยความที่ว่าสถานพยาบาลของทางภาครัฐ ย่อมมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก วันนี้เรามีทางเลือกในการตรวจเอชไอวีที่ง่าย สะดวก และรวดเร็ว โดยการจองผ่านเว็บไซต์ https://love2test.org/th ได้ตามสถานที่ใกล้บ้านคุณ สะดวก รวดเร็ว จองฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

ตรวจเอชไอวี เป็นประจำทุกปี

เราแนะนำให้รวมการตรวจเอชไอวี เข้ากับโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีของคุณไปเลยทีเดียว เพราะการเช็คเป็นประจำ จะช่วยป้องกันคุณให้ปลอดภัยจากโรคนี้ได้ รวมถึงตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย หากคุณเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเป็นประจำอยู่แล้ว ก็ควรตรวจเอชไอวีอย่างน้อยทุก ๆ 3 – 6 เดือน หรือบ่อยกว่านี้ โดยประเมินจากความเสี่ยงที่คุณมีเพศสัมพันธ์ในแต่ละครั้ง

ถึงแม้ว่าปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดจากเชื้อ HIV แต่มีวิธีการรักษาด้วยยาต้านไวรัส (Antiretroviral Therapy) ซึ่งสามารถควบคุมจำนวนเชื้อ HIV ในร่างกาย ช่วยให้ผู้ติดเชื้อ HIV มีชีวิตยืนยาว และมีสุขภาพดี

อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม

ถึงแม้ว่า คุณจะไม่มีความเสี่ยงแบบที่กล่าวไปข้างต้น แต่หากคุณยังมีเพศสัมพันธ์อยู่ ก็ควรเข้ารับการตรวจคัดกรอง เพื่อหาเชื้อไวรัสเอชไอวีเป็นประจำ เพราะเราไม่อาจรู้ได้แน่นอนว่า คู่นอนของเรามีความเสี่ยงหรือไม่ การตัดสินใจตรวจเอชไอวี ถือเป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์ แสดงถึงความใส่ใจในสุขภาพทางเพศของคุณเป็นอย่างดีครับ