โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Pelvic Inflammatory Disease : PID คือ การติดเชื้อที่ระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง เช่น มดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ เยื่อบุช่องท้องในอุ้งเชิงกราน ซึ่งมีสาเหตุหลากหลายปัจจัยด้วยกัน แต่มักจะมาจากการมีเซ็กส์ที่ไม่ปลอดภัยเป็นส่วนใหญ่ เช่น โรคหนองในแท้ หรือหนองในเทียมที่บริเวณช่องคลอดและปากมดลูก และหากไม่ได้รับการรักษาจะก่อให้เกิดโรคลุกลามไปยังระบบอื่นๆ บริเวณอวัยวะเพศได้ จากสถิติจะพบในผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 18-25 ปีขึ้นไป

อุ้งเชิงกราน คืออะไร

อุ้งเชิงกราน คือส่วนบริเวณช่องท้องของร่างกายที่สามารถแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่เหนือกระดูกเชิงกรานขึ้นไป และส่วนที่อยู่ต่ำกว่ากระดูกเชิงกรานลงมา ส่วนที่อยู่ต่ำกว่านั้นเราเรียกว่า “อุ้งเชิงกราน” ถ้ามองจากภายนอกก็จะเป็นบริเวณท้องน้อยนั่นเอง

สาเหตุที่ทำให้เกิด ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ

  • เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย
    • หนองในแท้ (Neisseria Gonorrhoeae) ประมาณ 15-20%
    • หนองในเทียม (Chlamydia Trachomatis) ประมาณ 25-35%
  • ไมโครพลาสมา (Mycoplasma genitalium) ประมาณ 5-10%
  • ซึ่งเชื้อจะเข้าจากช่องคลอด ผ่านปากมดลูก ขึ้นไปในมดลูก ท่อนำไข่ และรังไข่ ก่อนที่จะค่อยๆ กระจายไปติดเชื้ออวัยวะอื่นๆ ในอุ้งเชิงกราน
  • มีการใส่ห่วงอนามัย อุปกรณ์คุมกำเนิด หรือการใส่เครื่องมือแพทย์บางอย่าง
  • มีประวัติการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน หรือมีคู่นอนที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีเพศสัมพันธ์กับคนหลายคนโดยไม่สวมถุงยางอนามัย
  • ผู้หญิงที่ทำการสวนล้างช่องคลอดบ่อยๆ นั้นทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ดีและชนิดที่เป็นอันตรายในบริเวณช่องคลอด

อาการของ ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ

อาการของภาวะนี้อาจจะยังไม่มีแสดงให้เห็นในช่วงแรกที่ติดเชื้อแล้ว แต่ถ้าหากมีการลุกลามของเชื้อแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้น ก็อาจมีอาการ ดังต่อไปนี้

  • ปวดแสบขณะปัสสาวะ หรือปัสสาวะขัด
  • คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง
  • มีตกขาวผิดปกติ มีหนอง หรือมีกลิ่นเหม็น
  • ปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว
  • รู้สึกเวลามีเพศสัมพันธ์ หรือมีเลือดออกทั้งที่ไม่ได้มีประจำเดือน
  • รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อย ด้านขวา หรือทั้งสองข้าง โดยอาจปวดเป็นระยะแล้วก็หายไป หรือปวดต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน

การตรวจวินิจฉัย ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ

เมื่อคุณไปพบแพทย์เฉพาะทาง นอกจากการซักประวัติเบื้องต้นแล้ว แพทย์อาจเลือกใช้หลายวิธีในการตรวจประกอบกัน เพื่อให้แน่ใจว่าคุณมีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบจริงๆ ได้แก่

  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจภายใน
  • การตรวจในห้องปฏิบัติการ
  • การตรวจอัลตราซาวน์
  • การผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง
  • การสุ่มตัดชิ้นเนื้อจากโพรงมดลูก

ขั้นตอนการรักษาภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ

หากผู้ป่วยที่มีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบยังมีอาการที่ไม่รุนแรง แพทย์จะใช้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ชนิดรับประทาน แต่หากยาชนิดทานไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร แพทย์จะพิจารณาใช้การรักษาแบบอื่นที่เหมาะสมกับความรุนแรงของโรคต่อไป เช่น การปรับรูปแบบยาที่ทาน การฉีดยาฆ่าเชื้อ เป็นต้น แต่หากไม่รีบทำการรักษาอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ ระหว่างที่มีอาการอุ้งเชิงกรานอักเสบอยู่ ได้แก่

  • ทำให้มีบุตรยากหรือเป็นหมัน หรือมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังเป็นระยะเวลายาวนานและทรมาน ใช้ชีวิตประจำวันลำบาก
  • เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน อาจมีฝีหนองคั่งเป็นก้อน บริเวณปีกมดลูกและอวัยวะอื่นๆ ในอุ้งเชิงกราน มีโอกาสที่ฝีจะแตกได้

การดูแลตัวเองในระหว่างทำการรักษาภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ

การปฏิบัติตัวในระหว่างที่ยังรักษาโรคนี้อยู่ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณหายขาดจากภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบได้เร็วยิ่งขึ้น ด้วยการ :

  • งดมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด จนกว่ากระบวนการรักษาจะเสร็จสิ้น
  • ควรมีการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ร่วมด้วย
  • ชวนคู่นอนของคุณมาตรวจและรักษาไปพร้อมกัน เพราะอาจมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้เช่นกัน
วิธีป้องกันภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ

วิธีป้องกันภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ

ส่วนใหญ่แล้ว ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ มักเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เราจึงควรใส่ใจในเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อที่จะได้สามารถป้องกันตัวเองได้ ดังต่อไปนี้

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง เมื่อมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่ากับใครก็ตาม
  • เลือกใช้วิธีคุมกำเนิดด้วยการทานยาเม็ด หรือยาฉีด แทนการใช้ห่วงคุมกำเนิด
  • ไม่ทำการสวนล้างช่องคลอด เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบ และสมดุลของธรรมชาติเปลี่ยน
  • ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ หรือมีคู่นอนประจำที่รู้จักกันดีว่าไม่มีประวัติความเสี่ยงโรคจากที่ใด
  • หากสังเกตพบความผิดปกติของอวัยวะเพศ ให้รีบปรึกษาแพทย์ และไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
  • หมั่นไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจโรคเป็นประจำ หรือเมื่อมีความเสี่ยง และสงสัยว่าจะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะการเริ่มรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยป้องกันการเกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบได้

แม้ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ จะเป็นเพียงการติดเชื้อชนิดหนึ่ง ที่อาจเกิดขึ้นได้ถ้าคุณมีความเสี่ยง และสามารถรักษาได้ ด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการอยู่ในระดับเล็กน้อยเท่านั้น แต่ก็ไม่ควรประมาท และปล่อยทิ้งไว้นาน ไม่ไปปรึกษาแพทย์ เพราะอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวได้ในอนาคต และทำให้กระบวนการรักษาเกิดความยุ่งยากได้ครับ

อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจที่นี่

continue reading
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

กามโรค อาการเป็นแบบไหน

กามโรค อาการเป็นแบบไหน

หลายคนสงสัยว่าถ้าหากติด กามโรค หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ขึ้นมาแล้ว จะมีอาการประมาณไหนที่จะชี้ชัดไปได้เลยว่าเป็นโรคจริงๆ กามโรค จริงๆ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น โรคที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ทางทวารหนัก หรือการทำรักทางปาก (Oral Sex) ก็ตาม ส่วนใหญ่จะติดต่อผ่านการสัมผัสผิวหนัง บาดแผลที่มีเชื้อ เลือด หรือสารคัดหลั่ง ซึ่งในบางครั้งอาจถูกถ่ายทอดมาจากคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีเชื้อกามโรค และทำให้เชื้อถูกส่งต่อไปยังทารกน้อยได้

กามโรค มีอาการแบบไหนบ้าง

คนที่ติดเชื้อกามโรค อาจพบอาการที่แตกต่างกันออกไป ตามแต่ชนิดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ได้รับเชื้อมา และมักจะพบรอยโรคบริเวณอวัยวะเพศ แล้วค่อยๆ ลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายต่อไปหากไม่ได้ทำการรักษา ซึ่งบางรายอาจไม่มีอาการใดๆ ปรากฏให้เห็นเลย จึงเป็นการยากที่เจ้าตัวจะรู้ว่าติดเชื้อเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ อาการที่ถูกตรวจพบบ่อยๆ และสามารถสันนิษฐานได้ว่าเป็นกามโรค ได้แก่

  • อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องเสีย
  • ต่อมน้ำเหลืองบวมโตบริเวณขาหนีบและลำคอ
  • ปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • พบตุ่มหรือแผลขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือทวารหนัก
  • รู้สึกเจ็บหรือแสบเมื่อปัสสาวะ หรือเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • เพศหญิง มีอาการตกขาวผิดปกติ กลิ่นเหม็น และมีเลือดออกที่ช่องคลอด
  • เพศชาย มีหนองออกมาจากปลายองคชาติ หรือมีตุ่มแผลที่หนังหุ้มปลาย
  • ระคายเคืองผิวบริเวณอวัยวะเพศอย่างมาก และมีผื่นขึ้นตามมือ แขน และเท้า

ซึ่งหากพบว่ามีอาการ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทันที เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างรวดเร็วและทำให้หายขาดจากโรคได้ง่าย

สาเหตุที่ทำให้ติดกามโรค

กามโรค เกิดจากเชื้อที่ติดต่อกันผ่านเซ็กส์ ได้แก่ เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อปรสิต นอกจากนี้ การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อโรคชนิดอื่นได้ เช่น โรคบิดจากเชื้อชิเกลล่า โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไกอาร์เดีย เป็นต้น โดยปัจจัยเสี่ยงที่ถูกพบว่าทำให้ติดโรคได้มากที่สุด มีดังนี้

  • มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้สวมถุงยางอนามัยได้ทุกครั้งที่มีกิจกรรมทางเพศ
  • ติดเชื้อจากแม่ที่เป็นกามโรค สู่ลูกน้อยในครรภ์ (พบได้น้อยในปัจจุบัน)
  • มีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น กรณีผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด
  • มีคู่นอนที่มีประวัติการเจ็บป่วยด้วยกามโรค และอาจจะยังรักษาไม่หายขาด
  • มีคู่นอนหลายคน และคู่นอนนั้นไม่อาจทราบได้ว่ามีเชื้อกามโรคใดอยู่หรือไม่
  • สวมถุงยางอนามัยแล้วเกิดการหลุดรั่วหรือฉีกขาดในระหว่างที่กำลังสอดใส่อยู่
  • ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ทางทวารหนักและไม่ได้สวมถุงยางอนามันป้องกัน
  • เลือกขนาดไม่เหมาะสมกับอวัยวะเพศของตัวเอง และใช้ถุงยางอนามัยไม่ถูกต้อง
  • ออรัลเซ็กส์ หรือทำรักทางปาก โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยหรือแผ่นยางป้องกันการติดเชื้อ
  • ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือมีเพศสัมพันธ์ขาดสติ จึงทำให้ไม่แน่ใจว่าได้รับการป้องกันหรือไม่

จะรู้ได้ยังไงว่าเป็นกามโรคไหน

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จำเป็นจะต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยจากการซักประวัติผู้ป่วยเบื้องต้น และเริ่มตรวจเลือด หรือเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งต่างๆ เพื่อนำไปตรวจเพิ่มเติมในห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละโรค แต่หลักๆ สำหรับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกันนั้น ควรได้รับการตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัสเอชไอวีทุกคน เพราะถือเป็นโรคที่มีความเสี่ยงจะได้รับเชื้อมากที่สุด

สำหรับคู่สามีภรรยาที่ต้องการมีบุตร ก็ควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ และทำการตรวจกามโรคก่อนด้วย เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ลูกน้อยที่อาจจะเกิดมาในอนาคตติดโรคไปด้วย ผู้หญิงควรตรวจภายใน เพื่อหาความผิดปกติเกี่ยวกับปากมดลูก ว่ามีแนวโน้มจะเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือหูดที่อวัยวะเพศหรือไม่ รวมไปถึง การตรวจหาเชื้อหนองในเทียม หนองในแท้ ซิฟิลิส หรือเริม โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างปัสสาวะ หรือสารคัดหลั่งจากช่องคลอดเพื่อนำไปตรวจด้วย

กามโรค รักษาได้หรือไม่

เชื้อกามโรคส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายขาดได้ บางโรคก็สามารถควบคุมไว้ให้ไม่ลุกลามเป็นโรคร้ายใหญ่โต ซึ่งหากตรวจพบโรคไหน ก็ควรปรึกษาแพทย์ และปฏิบัติตามวิธีการรักษาอย่างเคร่งครัด เพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะใช้วิธีรักษาหลายแบบ เช่น การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส และการฉีดวัคซีน ใจความสำคัญนอกจากตรวจพบไวแล้ว การรักษาที่ถูกวิธีกับแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญ รวมไปถึงการชวนคู่นอนของคุณเองมาทำการตรวจและรักษาไปพร้อมๆ กันด้วย จะทำให้ความเสี่ยงที่จะเป็นกามโรคซ้ำลดลงได้มากและลดโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้

ป้องกัน กามโรค กันเถอะ

ป้องกันกามโรคกันเถอะ!

วิธีที่ดีในการป้องกันกามโรค คือการที่ไม่ทำให้ตัวเองมีความเสี่ยงกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เลย แต่บางครั้งก็อาจเกิดเหตุสุดวิศัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด เราจึงมีคำแนะนำดีๆ มาให้คุณ ดังนี้

  • หากกำลังรักษากามโรคอยู่ ควรงดมีเพศสัมพันธ์ไปก่อนจนกว่าจะหายขาดเรียบร้อยแล้ว
  • มีคู่นอนคนเดียว หรือคู่นอนประจำที่รู้ผลเลือดและได้รับการตรวจเชื้อกามโรคเป็นประจำ
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์และเลือกใช้เจลหล่อลื่นให้ถูกต้องตามชนิดของถุงยาง
  • หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดและของมึนเมาในขณะที่กำลังมีเพศสัมพันธ์ เพราะจะทำให้ขาดสติได้
  • ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษา และกามโรคต่างๆ เพื่อช่วยในการสังเกตอาการของตัวเองได้อย่างเข้าใจ และแก้ไขปัญหาที่อาจมาจากความเสี่ยงได้ทันถ้วงที
  • ฉีดวัคซีนสำหรับป้องกันกามโรค กรณีที่ตรวจแล้วยังไม่พบภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะโรคไวรัสตับอักเสบบี (HBV) และไวรัสรักษาเชื้อเอชพีวี (HPV)

ถึงแม้ว่าจะสามารถติดต่อกันได้ง่ายผ่านเซ็กส์ที่ไม่สวมถุงยางอนามัย แต่หากคุณได้เรียนรู้แล้วว่า การป้องกันกามโรคต่างๆ นั้นทำได้ด้วยการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย รวมไปถึงกลุ่มอาการต่างๆ ที่หาอ่านได้ตามเว็บไซต์เพศศึกษาและการแพทย์ทั่วไป จะช่วยให้คุณมีความระมัดระวังไม่ให้ตัวเองและคนที่คุณรักเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ตลอดไปครับ

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

continue reading
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

หนองใน เกิดขึ้นเองได้ไหม

หนองใน เกิดขึ้นเองได้ไหม

หนองใน เป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ถูกตรวจพบเป็นอันดับต้นๆ ประมาณร้อยละ 40 ของโรคติดต่อที่มาจากกิจกรรมทางเพศทั้งหมด ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศไม่จำกัดเฉพาะชายหรือหญิง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงอายุตั้งแต่ 15-24 ปี หนองใน ไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ การติดต่อของเชื้อนี้ผู้นั้นจะต้องได้รับความเสี่ยงมา โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ถึงจะติดเชื้อได้ เราจึงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บ่อยๆ เพราะเราไม่รู้ว่าใครมีเชื้อโรคอะไรอยู่ในร่างกายหรือไม่ และจะสามารถไว้ใจในคู่นอนของคุณได้แค่ไหน ถึงอย่างไรก็ตาม วันนี้ เรามาเรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับโรคหนองในเพิ่มเติมกันครับ

หนองใน มีกี่ประเภท

หนองในเป็นเชื้อแบคทีเรีย แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ

ประเภทที่ 1 : หนองใน แท้

ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่า Neisseria Gonorrhoeae (ไนซีเรีย โกโนเรีย) มีลักษณะค่อนข้างกลมอยู่กันเป็นคู่เว้าเข้าหากันคล้ายเมล็ดกาแฟหรือเมล็ดถั่ว โดยพื้นฐานแล้ว จะชอบอาศัยอยู่ในที่ชื้นและอบอุ่น เพราะเหตุนี้ จึงมักเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ปากมดลูก มดลูก ปีกมดลูก ท่อปัสสาวะ ทวารหนัก ลำคอ และเยื่อบุตา เป็นต้น และ

ประเภทที่ 2 : หนองใน เทียม

หนองในเทียม เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่า Chlamydia Trachomatis (คลามัยเดีย ทราโคมาติส) ส่วนใหญ่ หนองในเทียมจะไม่แสดงอาการและกว่าผู้ติดเชื้อจะรู้ว่าเป็นโรคนี้ก็ต่อเมื่อได้รับการตรวจเท่านั้น

ปัจจัยไหนบ้าง? ที่เสี่ยงติดหนองใน

  • มีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปากโดยไม่สวมถุงยางอนามัย
  • ติดเชื้อจากแม่สู่ลูกระหว่างการคลอดที่สัมผัสเชื้อโดยตรง
  • มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือใช้บริการทางเพศบ่อยครั้ง
หนองใน ติดต่อได้จาก

ถ้าไม่อยากเป็นหนองในต้องป้องกันอย่างไร

  • สวมถุงยางอนามัย ไม่ว่าจะเป็น คู่นอนประจำ แฟนของคุณ ทั้งการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก การออรัลเซ็กส์ ก็ควรสวมทุกครั้ง
  • งดการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เพราะเราไม่รู้ว่าใครมีโรคติดต่ออะไรอยู่หรือไม่
  • ก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์ ควรทำความสะอาดอวัยวะเพศและร่างกายให้เรียบร้อย
  • หมั่นตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำทุกปี
  • รักเดียวใจเดียว ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือไม่ดื่มของมึนเมาจนเผลอมีอะไรกับใครไม่ได้สติ

หนองใน มีอาการอย่างไร

หนองในแท้ มีระยะฟักตัวค่อนข้างเร็ว คือ 1-10 วันก็สามารถตรวจพบได้แล้ว แต่หากจะ เปรียบเทียบ กับหนองในเทียมจะมีระยะฟักตัวที่มากกว่า อาการเรื้อรังนานกว่า แต่ไม่ค่อยรุนแรงเท่าหนองในแท้ อาการที่พบมักจะเกิดในบริเวณที่ติดเชื้อมาตั้งแต่แรก นอกเหนือจากนั้น ก็ยังมีความแตกต่างกันของอาการในผู้ชาย และผู้หญิง ดังต่อไปนี้

หนองในเพศชาย

  • มีของเหลวข้นสีเหลือง หรือสีขาว ลักษณะเหมือนหนองข้นๆ ไหลออกจากปลายองคชาต
  • รู้สึกแสบขัดเวลาปัสสาวะ ปวดบวมที่อัณฑะ ท่อปัสสาวะอักเสบ
  • มีอาการเจ็บคอ คออักเสบ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • มีผื่นขึ้นบริเวณรอบอวัยวะเพศ หรือรอบรูทวารหนัก

หนองในเพศหญิง

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือมาจำนวนน้อย
  • มีการตกขาวมากผิดปกติ ของเหลวมีลักษณะสีเหลืองหรือเขียว เป็นมูกหนอง มีกลิ่นเหม็น
  • มีของเหลวออกจากช่องคลอด ทวารหนัก
  • เจ็บบริเวณอุ้งเชิงกรานขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ปัสสาวะลำบาก เจ็บหรือแสบเวลาปัสสาวะ
  • หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เชื้อแพร่สู่มดลูกและท่อทางเดินรังไข่
  • มดลูก ปากมดลูก หรือปีกมดลูกอักเสบ มีหนอง
  • มีเลือดออกที่ช่องคลอดระหว่างที่ยังไม่มีรอบเดือน

จะรู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อ หนองใน

หากมีอาการ ดังกล่าวข้างต้น แนะนำให้พบแพทย์ เพื่อทำการตรวจและเก็บตัวอย่างปัสสาวะส่งเพาะเชื้อที่ห้องปฏิบัติการ ป้ายหนองที่ออกมาจากท่อปัสสาวะ หรือเก็บตัวอย่างช่องทางที่คุณมีเพศสัมพันธ์ เช่น ทางลำคอ หรือทางทวารหนักร่วมด้วย แพทย์จะนำไปพิจารณาและวินิจฉัยว่าคุณติดเชื้อหนองในหรือไม่ และเป็นหนองในประเภทใด รอผลการตรวจประมาณ 7-10 วันขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลแต่ละแห่ง นอกจากนี้ หากคุณตรวจพบเชื้อหนองในไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม ควรได้รับการตรวจหาเชื้อซิฟิลิส (VDRL) และตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ร่วมด้วย เนื่องจาก มีแนวโน้มสูงว่าจะติดเชื้อเหล่านี้ไปด้วย

ดังที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่า หนองในแท้ และหนองในเทียมมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก แต่ถึงอย่างไร ในขั้นตอนของการรักษาโรคหนองในทั้งคู่ ก็มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ยาที่ใช้ก็เป็นคนละตัวยา หากคุณมีอาการที่ผิดสังเกตควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาในทันที ที่สำคัญ ควรได้รับการตรวจยืนยันจากแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้เลือกวิธีการรักษาที่ถูกต้องและแม่นยำ ในขณะเดียวกัน ก็จะช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาที่ผิดวิธีได้

รักษาหนองในอย่างไร

การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ผู้ป่วยหนองในที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน และผู้ป่วยหนองในที่มีภาวะแทรกซ้อน ดังนี้

หนองในที่ไม่มี
ภาวะแทรกซ้อน
การรักษา
หนองในที่อวัยวะเพศและทวารหนักใช้การฉีดยา Ceftriaxone 500 mg เข้ากล้ามเนื้อ 1 ครั้ง
หรือยา Cefixime 400 mg สำหรับทาน 1 ครั้ง
หนองในที่เยื่อบุตาใช้การฉีดยา Ceftriaxone 500 mg เข้ากล้ามเนื้อ 1 ครั้ง
หนองในที่ช่องคอใช้การฉีดยา Ceftriaxone 1 g เข้ากล้ามเนื้อ 1 ครั้ง
หรือหลอดเลือดดำ 1 ครั้ง และล้างตาด้วยน้ำเกลือปลอดเชื้อให้สะอาด
*ทุกการรักษาชนิดนี้จะร่วมกับการรักษาอาการหนองในเทียมด้วย

หนองในที่มีภาวะแทรกซ้อนการรักษาหมายเหตุ
หนองในเฉพาะที่ฝีในอวัยวะเพศ ลูกอัณฑะอักเสบ ท่อปัสสาวะอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือดรักษาแบบเดียวกับหนองในที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน อย่างน้อย 2 วันขึ้นไปหรือจนกว่าจะหายดี
หนองในแพร่กระจายเลือดออกในชั้นผิวหนังหรือเยื่อบุ ภาวะโรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อ ภาวะเอ็นอักเสบใช้การฉีดยา Ceftriaxone 1-2 g เข้ากล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดดำทุกๆ 12 ชั่วโมง ต่อเนื่อง 4 สัปดาห์

วิธีดูแลตัวเองในขณะที่รักษาหนองในอยู่

  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะหายขาดจากโรค แต่หากจำเป็น ก็ควรสวมถุงยางอนามัย
  • ทานยาตามแพทย์สั่งให้ครบและมีวินัย ไม่ขาดยา เพื่อลดโอกาสดื้อยาที่อาจเกิดขึ้นได้
  • กลับไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อให้การรักษาหนองในเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
  • ดูแลรักษาความสะอาดของตัวคุณเอง ทั้งร่างกาย เสื้อผ้า โดยเฉพาะบริเวณที่อับชื้นอย่างอวัยวะเพศ
  • หากมีอาการผิดปกติใดๆ ไม่ควรหาซื้อยามาทานเอง ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง
  • ถ้าคู่นอนมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ คุณควรแนะนำให้มาพบแพทย์เช่นกัน เพื่อทำการตรวจและรักษา ไม่ให้ติดเชื้อซ้ำซ้อนได้
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่นเดียวกับ การงดสูบบุหรี่
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด และออกกำลังสม่ำเสมอ
ดูแลตัวเองระหว่างรักษา หนองใน

อย่างไรก็ตาม หนองใน สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วย การตรวจพบไว และเข้าพบแพทย์ทันที เพราะ หากเริ่มการรักษาตั้งแต่ระยะแรกที่พบเชื้อจะมีโอกาสที่จะหายจากโรคได้สูง รวมทั้ง ผู้ที่รักษาหนองในจนหายแล้วควรดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดี ตัวอย่างเช่น ไม่นำตัวเองไปเสี่ยงรับเชื้อเพิ่ม มีคู่นอนคนเดียวและคู่นอนคนนั้นควรได้รับการตรวจหนองใน และไม่พบโรค นอกจากนี้ ทุกคนควรให้ความสำคัญ ของการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ อันจะเป็นการ ลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำได้ในอนาคต

อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

    continue reading
    ตรวจเอชไอวีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    ความเสี่ยงที่มาพร้อมกับ ออรัล เซ็กส์ คืออะไร?

    ความเสี่ยงจาก Oral Sex

    ออรัล เซ็กส์ ถือเป็นวิธีการมีเพศสัมพันธ์ อย่างหนึ่งที่ทำให้คู่รักรู้สึกเพลิดเพลิน หากทั้งสองฝ่ายยินยอมพร้อมใจ แต่ในบางครั้งการทำออรัลเซ็กส์อาจนำมาซึ่งโรคร้ายต่าง ๆ ได้ เช่น โรคติดเชื้อเอชพีวี ซิฟิลิส หรือแม้กระทั่งโรคเอดส์ ดังนั้น ก่อนจะทำออรัล เซ็กส์ ควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค และการทำออรัล เซ็กส์อย่างปลอดภัย

    Oral Sex คือ

    ออรัล เซ็กส์ (Oral Sex) คือ อะไร ?

    การใช้ช่องปาก ริมฝีปาก หรือลิ้น ในการกระตุ้นบริเวณอวัยวะเพศชาย อวัยวะเพศหญิง ทวารหนัก หรือส่วนที่อยู่ใกล้เคียงกับบริเวณดังกล่าว เพื่อให้คู่นอนอีกฝ่ายเกิดอารมณ์ทางเพศ ซึ่งทำได้ทั้งคู่รักเพศเดียวกันและคู่รักต่างเพศ การออรัล เซ็กส์นั้นเป็นสิ่งที่ทั้งผู้ชาย และผู้หญิงต่างปรารถนาเป็นอย่างมาก บางคนเพียงแค่ถูก ออรัล เซ็กส์ก็สามารถเสร็จได้โดยไม่ต้องสอดใส่

    ข้อดีของออรัล เซ็กส์คืออะไร

    ไม่ทำให้ท้อง และทำให้ฝ่ายหญิง และฝ่ายชายพอใจในเพศรสมากขึ้น และมีคนกลุ่มไม่น้อยที่ชอบออรัล เซ็กส์ มากกว่าการมีเซ็กส์จริงๆ เสียอีก

    ข้อเสียของออรัล เซ็กส์

    สามารถติดโรคได้ทุกโรค เนื่องจากการกลืนน้ำหล่อลื่นฝ่ายหญิง หรือน้ำอสุจิของชายที่มีโรค อาจทำให้ติดโรคได้ง่ายขึ้น และโรคที่มีโอกาสติดผ่านการทำรักทางปาก

    โรคจากOral Sex

    ความเสี่ยงที่อาจมาพร้อม ออรัล เซ็กส์

    1. ติดเชื้อเอชไอวี การทำออรัลเซ็กส์จะมีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีน้อยกว่า การมีเซ็กส์ทางทวารหนัก และช่องคลอด แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีโอกาสติด โดยเฉพาะถ้าช่องปากของฝ่ายรุก และอวัยวะเพศของฝ่ายรับมีแผล

    2. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อื่นๆ ดังนี้

    • หนองในแท้ สามารถติดได้ทั้งฝ่ายรับ และฝ่ายรุก กรณีที่หากอีกฝ่ายมีเชื้อ 
    • หนองในเทียม 
    • ซิฟิลิส ซิฟิลิสเป็นแผลริมแข็ง เชื้อซิฟิลิสเข้าทางเยื่อบุต่างๆ ได้ ดังนั้นการสัมผัสทางปากกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หัวนม ในคนที่มีแผลริมแข็ง มีเชื้อซิฟิลิส ก็สามารถติดเชื้อซิฟิลิสได้
    • เริม ติดจากการสัมผัสผื่นเริม ดังนั้นจึงติดได้ทั้งฝ่ายรับ และฝ่ายรุก หากอีกฝ่ายมีเชื้อเริม

    3. พยาธิ โดยเฉพาะพยาธิเส้นด้ายที่ชอบวางไข่รอบๆ ทวารหนัก ซึ่งอาจกระจายมาที่อวัยวะเพศ อาจทำให้ผู้ทำออรัล เซ็กส์ กลืนกินไข่พยาธิเส้นด้าย ไปเจริญเติบโตแพร่กระจายในลำไส้ใหญ่ และทวารหนักต่อได้

    4. เชื้อเอชพีวี ซึ่งทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ในหลอดลม ทอนซิล และช่องปาก ก่อให้เกิดมะเร็งในช่องปาก ทอนซิลลิ้นและคอได้อีกด้วย

    5. โรคไวรัสตับอักเสบเอ ไวรัสที่ว่าถูกปล่อยจำนวนมากออกมากับอุจจาระ ทำให้สามารถติดต่อทางออรัล เซ็กส์ได้

    6. โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคนี้อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงได้ อย่างเป็นโรคตับหรือตับเกิดความเสียหายอย่างต่อเนื่อง และบางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ด้วย ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ที่เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือผู้ที่ใช้สารเสพติด โดยเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอาจถูกพบได้หลายแห่งในร่างกาย อย่างน้ำอสุจิ เลือด น้ำลาย และอุจจาระ แม้จะยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน แต่ก็มีแนวโน้มว่าการทำออรัล เซ็กส์ มีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้

    7. โรคไวรัสตับอักเสบซี เป็นโรคที่อาจทำให้ตับเกิดการอักเสบหรืออาจทำให้ตับเสียหายอย่างร้ายแรงได้ มีช่องทางการแพร่เชื้อเหมือนกับโรคไวรัสตับอักเสบบี และถึงแม้จะยังไม่มีหลักฐานว่าเชื้อไวรัสของโรคชนิดนี้ติดต่อผ่านการทำออรัล เซ็กส์หรือไม่ แต่หากมีเลือดออกบริเวณที่ทำออรัล เซ็กส์ ก็ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะติดโรคไวรัสตับอักเสบซีได้ ไม่ว่าจะเป็นเลือดที่ออกจากฝ่ายที่เป็นผู้ทำออรัล เซ็กส์เอง หรืออีกฝ่ายหนึ่งก็ตาม  

    8. โรคบิดชิกเกลลา  ติดต่อได้โดยการสัมผัสอุจจาระที่มีเชื้อแบคทีเรียชิกเกลลาอยู่ ดังนั้น การทำออรัล เซ็กส์ บริเวณทวารหนักจึงอาจทำให้ติดโรคนี้ได้ โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย ซึ่งโรคนี้จะทำให้ผู้ที่ติดเชื้อมีอาการท้องเสีย ปวดท้อง หรือมีไข้ ในขณะที่บางคนก็อาจไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา แต่ยังคงมีเชื้ออยู่ในอุจจาระไปอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์

    9. การติดเชื้อทริโคโมแนส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่งที่อาจทำให้รู้สึกแสบเมื่อปัสสาวะ มีของเหลวผิดปกติที่อวัยวะเพศหญิงหรืออวัยวะเพศชาย และช่องคลอดแดงหรือมีอาการคัน ซึ่งการติดเชื้อทริโคโมแนสเกิดขึ้นได้ทั้งบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือลำคอ ดังนั้น การทำออรัล เซ็กส์ กับผู้ที่เป็นโรคนี้จึงอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ปากและลำคอได้ด้วยเช่นกัน
    10. โลน เป็นปรสิตขนาดเล็กที่กินเลือดคนเป็นอาหาร อาศัยอยู่ที่ขนบริเวณอวัยวะเพศ รวมถึงขนที่บริเวณอื่น ๆ อย่างขนรักแร้ ขนหน้าอก หรือขนขา ซึ่งโลนอาจทำให้มีอาการคันอย่างรุนแรงได้ โดยปกติแล้วโลนจะติดต่อผ่านการสัมผัสอวัยวะเพศ ทวารหนัก รวมถึงการทำออรัล เซ็กส์ ด้วย

    เคล็ดลับเพิ่มรสชาติให้ ออรัลเซ็กส์

    • ทำความสะอาดช่องปากให้สะอาด อย่าปล่อยให้มีกลิ่นอาหารนั้นมาทำลายบรรยากาศสุดฟินของคุณ ควรทำความสะอาดภายในช่องปากให้สะอาดทุกครั้งก่อนเริ่มมีเพศสัมพันธ์
    • สำหรับคุณผู้ชายควรโกนหนวดให้เรียบร้อย เพราะหนวดเคราอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อฝ่ายตรงข้ามได้
    • กระตุ้นให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกตื่นตัวด้วยการเม้มปากแรงๆ สัก 3-5 ครั้ง ที่อวัยวะเพศ
    • หากมีปัญหาช่องปาก เช่น ฟันผุ หรือมีแผลในปาก ควรรักษาให้หายก่อน เพราะอาจจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อต่างๆได้
    • ใช้ลิ้นอย่างนุ่มนวลอย่ารุนแรงจนเกินไป และรักษาจังหวะไว้เพื่อไม้ให้อีกฝ่ายอารมณ์ค้าง
    แผ่นOral Sex

    ออรัลเซ็กส์อย่างไรให้ปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่อโรคร้าย

    • หากทำออรัล เซ็กส์ กับอวัยวะเพศชาย ให้สวมถุงยางอนามัยที่ไม่ผสมสารหล่อลื่น  ก่อนทำออรัล เซ็กส์ หากแพ้ยางก็ให้ใช้ถุงยางอนามัยที่ทำจากพลาสติกแทน
    • หากทำออรัลเซ็กส์กับอวัยวะเพศหญิง หรือทวารหนัก ให้ใช้แผ่นยางอนามัยหรือตัดถุงยางอนามัยให้เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมแล้ววางไว้ระหว่างปากกับอวัยวะเพศหญิงหรือทวารหนักขณะทำออรัล เซ็กส์
    • หลีกเลี่ยงการทำออรัลเซ็กส์หากคู่นอนมีความผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก และปาก อย่างเป็นผื่น เป็นแผล มีอาการเจ็บคอ ติดเชื้อที่ลำคอ เป็นกามโรค หรืออยู่ในช่วงที่มีประจำเดือน
    • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ควรพาคู่นอน และตนเองไปตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ที่โรงพยาบาล หรือคลินิก
    • หากคิดว่าตนเอง หรือคู่รักอาจมีเชื้อเอชไอวี หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดใดก็ตาม ควรงดเว้นกิจกรรมทางเพศไว้ก่อน และไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง

    อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจที่นี่

    อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

    • ออรัล เซ็กส์ ความสุขที่อาจมาพร้อมกับโรคร้าย https://www.pobpad.com/ออรัล-เซ็กส์-ความสุขที่อ
    • การทำรักด้วยปาก (Oral Sex) กับความเสี่ยงที่คุณอาจไม่คาดคิด https://thestandard.co/oral-sex-risks/
    • เรื่องต้องรู้ Oral Sex อย่างไรไม่ให้ผู้ชายเจ็บ https://praewwedding.com/love-and-relationships/122845
    continue reading
    โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    ข้อควรรู้เกี่ยวกับ โรคหนองใน (Gonorrhoea)

    ‎ข้อควรรู้เกี่ยวกับ โรคหนองใน

    หนองในแท้ และหนองในเทียม ในบางครั้งอาจแยกอาการกันไม่ออก ถ้าใช้ยารักษาหนองในแท้อย่างเต็มที่แล้วไม่ได้ผล (โดยไม่ได้ตรวจเชื้อมาก่อน) สาเหตุอาจเป็นเพราะเชื้อดื้อยา หรืออาจจะเป็นหนองในเทียมก็ได้

    โรคหนองใน (Gonorrhoea) คืออะไร?

    โรคหนองใน หรือโรคหนองในแท้ (Gonorrhea) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่พบได้บ่อยมากที่สุดอีกโรคหนึ่ง สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเพศหญิง และเพศชาย   เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า    ไนซีเรีย โกโนเรีย (Neisseria Gonorrhoea) 

    แบคทีเรีย ไนซีเรีย โกโนเรี

    ระยะฟักตัวของโรค

    หลังจากที่ได้รับเชื้อ ก็มักจะแสดงอาการภายใน 2 – 10 วัน แต่โดยทั่วไปแล้วจะแสดงอาการภายใน 5 วัน

    สาเหตุของโรคหนองใน

    เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ ไนซีเรีย โกโนเรีย (Neisseria gonorrhoeae) หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า โกโนค็อกคัส (Gonococcus ) ซึ่งสามารถตรวจพบได้ในน้ำอสุจิและน้ำในช่องคลอด  จึงทำให้เชื้อโรคนี้แพร่ผ่านและติดต่อทางการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก

    ปัสสาวะแล้วรู้สึกเจ็บ หรือแสบขัด

    อาการของโรคหนองใน

    อาการหนองในในผู้ชายมีอาการอย่างไร?

    • จะมีเมือกสีขาวขุ่น หรือ มีหนองข้นๆ สีเหลือง หรือเขียว หรือขาว ไหลออกมาจากส่วนปลายของอวัยวะเพศ โดยอาจเกิดขึ้นหลังการมีเพศสัมพันธ์
    • รอบรูอวัยวะเพศเป็นสีแดง
    • เจ็บหรือแสบขณะปัสสาวะ
    • มีของเหลวไหลออกมาจากทวารหนัก
    • เกิดการอักเสบของหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ
    • เจ็บคอ คอแห้ง และรู้สึกปวดเมื่อยตามตัว บางรายอาจมีไข้ได้
    • เจ็บ บวม หรือฟกช้ำที่ลูกอัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง แต่พบไม่บ่อย
    • หากไม่ได้รับการรักษาหรือปล่อยไว้นาน เชื้ออาจแพร่กระจายลุกลามสู่อัณฑะเสี่ยงเป็นหมันได้ 

    อาการหนองในในผู้หญิงมีอาการอย่างไร?

    • มีหนองที่ช่องคลอด ช่องคลอดอักเสบ
    • ปัสสาวะแล้วรู้สึกเจ็บ หรือแสบขัด
    • เจ็บบริเวณอุ้งเชิงกราน โดยเฉพาะขณะมีเพศสัมพันธ์ 
    • มีของเหลวไหลออกจากทวารหนัก
    • มีหนองที่ช่องคอ เจ็บคอ คอแห้ง และรู้สึกปวดเมื่อยตามตัว
    • มีตกขาวผิดปกติขับออกมาจากช่องคลอด ลักษณะเป็นน้ำ หรือเส้นบาง ๆ สีออกเขียวหรือเหลือง หรือตกขาวเป็นมูกหนอง มีกลิ่นเหม็น  และมีปริมาณมากขึ้น 
    • เจ็บหรือฟกช้ำบริเวณท้องน้อย แต่พบได้ไม่บ่อย
    • มีเลือดออกระหว่างรอบเดือนและหลังการมีเพศสัมพันธ์ หรือประจำเดือนมามากผิดปกติ ซึ่งเป็นอาการที่พบได้น้อย
    • หากปล่อยไว้นานไม่รีบรักษา เชื้ออาจลุกลามไปสู่มดลูกและท่อรังไข่ เสี่ยงเป็นโรคกระดูกเชิงกรานอักเสบ รวมไปจนถึงเป็นหมันได้  

    นอกจากนี้การติดเชื้อหนองในแท้ที่บริเวณอื่น ๆ

    เช่น ทวารหนัก ลำคอ ดวงตา หรือข้อต่อก็ย่อมทำให้มีอาการแตกต่างกันไป ดังนี้

    • การติดเชื้อที่ทวารหนักจะทำให้รู้สึกไม่สบายบริเวณนี้ เจ็บ หรือมีของเหลวขับออกมาได้
    • การติดเชื้อที่ดวงตาสามารถทำให้ระคายเคือง เจ็บ บวมหรือมีของเหลวไหลจากดวงตา
    • การติดเชื้อที่ข้อต่อ จะส่งผลให้ข้อต่อที่ติดเชื้อรู้สึกอุ่น บวมแดง และเจ็บมาก โดยเฉพาะเมื่อมีการเคลื่อนไหวบริเวณดังกล่าว
    • การติดเชื้อที่ลำคออาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอและต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
    • สามารถแพร่จากหญิงตั้งครรภ์ไปสู่ทารกในขณะที่คลอดออกมาผ่านการสัมผัสเยื่อบุช่องคลอดของมารดา โดยทารกแรกเกิดที่ได้รับผลกระทบมักจะแสดงอาการติดเชื้อที่ดวงตาในช่วง 2 สัปดาห์แรก ซึ่งจะสามารถทำให้ตาของทารกบวมแดง มีของเหลวลักษณะเหนียวข้นคล้ายหนองไหลออกมา หรือถึงขั้นทำให้ทารกตาบอด นอกจากนี้ยังอาจเกิดการติดเชื้อรุนแรงกับอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตทารกได้ 

    การวินิจฉัยโรคหนองในแท้

    การวินิจฉัยโรคหนองในขึ้นอยู่กับตำแหน่ง และปริมาณเชื้อหนองใน สามารถวินิจฉัยได้หลากหลายวิธี โดยส่วนใหญ่จะใช้สำลีป้ายเก็บตัวอย่างเชื้อจากบริเวณที่อาจมีการติดเชื้อเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ การเก็บตัวอย่างนั้นใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีและไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยโรคหนองในในเพศชายและเพศหญิงอาจมีข้อแตกต่างกัน คือ

    • ในเพศหญิง มักจะใช้สำลีป้ายเก็บตัวอย่างจากช่องคลอดหรือปากมดลูกระหว่างที่ตรวจภายใน หรือบางกรณีก็อาจมีการเก็บตัวอย่างจากบริเวณท่อปัสสาวะด้วย ทั้งนี้ผู้ป่วยจะขอเก็บตัวอย่างจากภายในช่องคลอดด้วยสำลีหรือผ้าอนามัยแบบสอดด้วยตนเองก็ได้ แต่การตรวจโรคหนองในแท้ในเพศหญิงจะไม่ตรวจโดยเก็บตัวอย่างปัสสาวะเหมือนการตรวจในเพศชาย
    • ในเพศชาย มักจะใช้การตรวจปัสสาวะ หรือเก็บตัวอย่างจากของเหลวที่ถูกขับออกมาจากปลายอวัยวะเพศ ซึ่งผู้ป่วยต้องไม่ปัสสาวะเป็นเวลา 2 ชั่วโมงก่อนหน้าการเก็บตัวอย่าง เนื่องจากการปัสสาวะจะไปล้างเชื้อแบคทีเรียโรคหนองในแท้ ส่งผลต่อความแม่นยำของการวินิจฉัยโรค
    • การติดเชื้อบริเวณอื่น ๆ นอกเหนือจากอวัยวะเพศ เช่น ลำคอ หรือทวารหนัก จะใช้สำลีป้ายเก็บตัวอย่างจากบริเวณเหล่านี้ และหากผู้ป่วยมีเยื่อบุตาอักเสบ เช่น ตาแดง อักเสบ หรือมีของเหลวไหลออกจากตาก็อาจมีการเก็บตัวอย่างจากของเหลวนี้ส่งตรวจด้วย

    โดยการตรวจที่บริเวณคอจะมีความแม่นยำน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ไม่มีการตรวจใดให้ผล 100 % ดังนั้นหากท่านยังคงมีอาการอยู่ ทั้งที่ผลการตรวจทุกอย่างเป็นลบ แนะนำให้มาตรวจติดตามเพื่อประเมินซ้ำอีกครั้ง ในทางกลับกัน หากท่านไม่มีอาการแต่ผลการตรวจเป็นบวก (เนื่องจากคู่นอนของท่านติดเชื้อ)  แนะนำให้ท่านรับการรักษาอย่างเร่งด่วน

    การรักษาโรคหนองใน ด้วยยาปฏิชีวนะ

    การรักษาหนองใน

    การรักษาจะใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าร้อยละ 95 ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาในกรณีที่ท่านมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ หากไม่สามารถที่จะรับการตรวจเพื่อวินิจฉัย ควรรับยาเพื่อรักษาไปเลย ในกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อนแล้ว เช่น อุ้งเชิงกรานอักเสบ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ภาวะมีบุตรยาก เป็นต้น ท่านอาจจะต้องนอนรับการรักษาในโรงพยาบาลหรือรับการผ่าตัดแก้ไข

    โดยจะแบ่งการรักษา ดังนี้

    ไม่มีภาวะแทรกซ้อน (Uncomplicated Gonorrhoea)

    • ผู้ป่วยหนองในที่อวัยวะเพศ และทวารหนัก สามารถรักษาโดยใช้ยา Ceftriaxone 500 mg แบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 ครั้ง ร่วมกับการรักษาโรคหนองในเทียม ส่วนอีกแบบคือ ยา Cefixime 400 mg ทาน 1 ครั้ง ร่วมด้วยกับการรักษาโรคหนองในเทียมเช่นเดียวกับยาแบบฉีด 
    • ผู้ป่วยหนองในที่ช่องคอ แพทย์จะใช้ยา Ceftriaxone 500 mg แบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 ครั้ง ร่วมกับการรักษาโรคหนองในเทียม 
    • ผู้ป่วยหนองในที่เยื่อบุตาวัยผู้ใหญ่ มักใช้ยา Ceftriaxone 1 g ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดดำ 1 ครั้ง ร่วมกับการรักษาอาการหนองในเทียม ทั้งนี้ผู้ป่วยควรล้างตาด้วยน้ำเกลือปลอดเชื้อให้สะอาดทุกๆ ชั่วโมง จนกว่าหนองบริเวณตาจะแห้งสนิท 

    มีภาวะแทรกซ้อน (Complicated Gonorrhoea)

    • ผู้ป่วยหนองในชนิดมีภาวะแทรกซ้อนเฉพาะที่ (Local Complicated Gonorrhoea) เช่น เกิดฝีในอวัยวะเพศ ลูกอัณฑะอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด และต่อมต่างๆ บริเวณท่อปัสสาวะอักเสบ จะใช้การรักษาแบบเดียวกับโรคหนองในชนิดที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่จะต้องรักษาอย่างน้อย 2 วันขึ้นไปหรือจนกว่าหนองในจะหายดี 
    • ผู้ป่วยหนองในชนิดมีภาวะแทรกซ้อนแพร่กระจาย (Disseminated Gonococcal Infection) ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยแพทย์ ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกในชั้นผิวหนังหรือเยื่อบุ หรือมีภาวะโรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อ และมีภาวะเอ็นอักเสบ แพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยา Ceftriaxone 1-2 g ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ วันละ 1 ครั้ง หากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นก็จะได้รับยาทาน Cefixime 400 mg วันละ 2 ครั้ง 
    • กรณีผู้ป่วยที่มีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะรักษาโดยใช้ยา Ceftriaxone 1-2 g ฉีดเข้าหลอดเลือดดำทุก 12 ชั่วโมง ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ แพทย์จะรักษาโดยใช้ยา Ceftriaxone 1-2 g ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ทุก 12 ชั่วโมง และใช้ระยะเวลารักษานานถึง 4 สัปดาห์ 

    ส่วนการรักษาทารกที่ได้รับเชื้อหนองในแท้

    เมื่อแรกเกิด หรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากมารดาที่เป็นโรคหนองในแท้ แพทย์จะให้ยาหยอดตาเด็กทันทีที่คลอดออกมา เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่หากอาการติดเชื้อพัฒนาขึ้นแล้วจึงรักษาด้วยปฏิชีวนะที่ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก เพื่อช่วยป้องกันการสูญเสียการมองเห็น รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ จากการได้รับเชื้อหนองในแท้

    อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจที่นี่

    อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

    • โรคหนองใน (Gonorrhoea) https://www.doctorraksa.com/th-TH/blog/gonorrhoea.html#when-to-seek-emergency-medical-ca re
    • โรคหนองใน คืออะไร อันตรายไหม ข้อมูล สาเหตุ อาการ วิธีการรักษาและป้องกัน ! https://www.bangkoksafeclinic.com/th/โรคหนองใน/
    • หนองในแท้ https://www.pobpad.com/หนองในแท้
    • หนองใน อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคหนองในแท้ 6 วิธี !! https://medthai.com/หนองในแท้/
    • รู้ไว้ใช่ว่า เป็น “โรคหนองใน” ห้ามปล่อยไว้ ต้องรักษา! https://www.sanook.com/health/8541/
    continue reading
    โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    ซิฟิลิส (Syphilis) อันตรายแต่ป้องกันได้

    โรคซิฟิลิสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่วนมากจะติดระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย โดยจะมีอาการที่เห็นได้ชัดคืออยู่ ๆ ร่างกายจะมีผื่นขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตามแขน ตามลำตัว หรือขึ้นพร้อมกันในบริเวณทั้งหมดที่กล่าวมา หากมีอาการดังกล่าวก็ควรเข้าพบแพทย์และรักษาให้หายขาดโดยเร็วที่สุด

    โรคซิฟิลิสคืออะไร ?

    ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากแบคทีเรีย ทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema pallidum) พบได้บ่อย และสามารถ เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ แต่หากได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ก็สามารถรักษาได้อย่างรวดเร็ว

    โรคซิฟิลิสติดต่อได้อย่างไร ?

    โรคซิฟิลิส ติดต่อจากคนสู่คนได้โดยง่าย จากการสัมผัส จูบ กอด เพศสัมพันธ์ สามารถติดผ่านผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ ได้ ทารกในครรภ์ติดเชื้อจากแม่ผ่านรกได้ สำหรับการติดต่อผ่านเลือด ติดผ่านได้ เช่น การใช้เข็มร่วมกัน การให้เลือด แต่เกิดได้น้อย

    โรคซิฟิลิสมีกี่ระยะ ?

    โรคซิฟิลิสแบ่งออกเป็น 4 ระยะ

    • ระยะที่ 1 ผู้ป่วยจะมีแผลเล็กตรงจุดที่เกิดการติดเชื้อโดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศในระยะนี้จะเกิดแผลหลังรับเชื้อไปแล้วไม่เกิน 2 เดือน และหายไปเองภายใน 6 สัปดาห์
    • ระยะที่ 2 อาการจะพัฒนาจากระยะที่ 1 ในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน โดยจะเกิดตุ่มขึ้นตามตัว น้ำหนักลดลง ต่อมน้ำเหลืองมีอาการบวม และผมร่วง เป็นต้น แต่ก็เช่นเดียวกับระยะที่ 1 อาการเหล่านี้สามารถหายได้เองเช่นกัน
    • ระยะสงบ เป็นระยะที่ผู้ป่วยแทบไม่แสดงอาการแต่ยังคงมีเชื้ออยู่ในร่างกายก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่ซิฟิลิสระยะสุดท้าย
    • ระยะที่ 3 หากมาถึงระยะนี้และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะส่งผลข้างเคียงอย่างรุนแรง เช่น มีผลต่อระบบประสาท หัวใจ สมอง เป็นอัมพาต เสียสติ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

    การรักษาโรคซิฟิลิส

    ผู้ป่วยโรคซิฟิลิสไม่ต้องกังวลไป เพราะหากตรวจพบเชื้อตั้งแต่ระยะต้น ๆ จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการรับประทานยาปฏิชีวนะ เพนนิซิลลิน เป็นเวลา 1-3 สัปดาห์ ทั้งนี้ระยะเวลาการรักษาขึ้นกับระยะของโรคที่เป็นด้วย ถึงแม้จะรักษาหายแล้วต้องกลับมาตรวจซ้ำอีกในช่วงแรก ทุก ๆ 3 เดือน จะได้แน่ใจว่าโรคหายขาด

    โรคซิฟิลิสป้องกันอย่างไร ?

    หากอยากป้องกันตัวเองจากโรคซิฟิลิส สิ่งที่ทำได้คือ ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และเข้าตรวจเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นครั้งคราว เพื่อให้มั่นใจว่าตัวเองไม่ติดเชื้อ นอกจากนี้ยังสามารถแนะนำแฟนหรือคู่นอนให้มาตรวจเลือดด้วยกันเพื่อความสบายใจก็ได้ หากทำได้ทั้งหมดนี้ โรคซิฟิลิสก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป

    จองตรวจซิฟิลิสง่ายๆใกล้บ้านคุณ ได้ที่นี่ > > https://love2test.org/th/clinic

    อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจที่นี่

    continue reading
    โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    โรคเริม (Herpes)

    เริมติดต่อได้ง่ายผ่านการสัมผัสกับรอยโรคที่ผิวหนัง โดยผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศ ปาก และตา เป็นบริเวณที่สามารถติดเชื้อได้ง่าย ส่วนบริเวณอื่นๆ ของร่างกายก็อาจติดเชื้อได้ ถ้ามีช่องทางให้เชื้อเข้าไปได้ เช่น รอยบาดแผลที่ผิวหนัง ผื่นที่ผิวหนัง เป็นต้น

    เริมเกิดจากอะไร?

    เริมเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อ Herpes simplex virus หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า Herpes ซึ่งมี 2 สายพันธุ์ คือ Herpes simplex virus ชนิด 1 (HSV-1) และ Herpes simplex virus ชนิด 2 (HSV-2) 

    เมื่อได้รับเชื้อเริมครั้งแรกจาก การสัมผัสโดยตรงจากผู้ที่เป็นโรคผ่านทางน้ำลาย หรือรอยโรค อาจแสดงอาการหรือไม่ก็ได้ โดยเชื้อไวรัสจะเข้าทางผิวหนังและไปสะสมอยู่ที่ปมประสาท เมื่อมีปัจจัยมา กระตุ้น เชื้อไวรัสก็จะออกมาตามเส้นประสาทไปถึงปลายประสาททำให้เกิดรอยโรคที่ผิวหนัง หรือเยื่อบุ 

    เริมสามารถเกิดได้หลายตำแหน่ง เช่น บริเวณอวัยวะเพศหญิง ช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก อวัยวะเพศชาย ถุงอัณฑะ ก้น ต้นขาด้านใน ริมฝีปาก ปาก ลำคอ

    คุณจะติดเชื้อเริมได้อย่างไร? 

    การติดเชื้อเริมไม่จำเป็นต้องผ่านการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น บางครั้งคุณสามารถติดเชื้อเริมผ่านวิธีอื่นได้ เช่น ผู้ปกครองที่มีรอยโรคเริมจูบลูกที่ปาก เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ผู้คนจำนวนมากที่เคยเป็นเริมที่ปากมักจะเคยเป็นตั้งแต่วัยเด็ก สำหรับหญิงตั้งครรภ์ก็มีโอกาสแพร่เชื้อเริมไปสู่ลูกขณะคลอดลูกได้ แต่ก็พบได้น้อย

    นอกจากนี้คุณยังสามารถแพร่เชื้อเริมไปที่บริเวณอื่นๆ ของร่างกายได้ ถ้าหากมีการสัมผัสกับแผลตุ่มพอง ตุ่มน้ำ แล้วนำไปสัมผัสที่บริเวณอื่นต่อโดยไม่ได้ล้างมือก่อน เช่น ปาก อวัยวะเพศ ตา วิธีนี้ยังเป็นช่องทางในการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นด้วย 

    โรคเริมมีอาการอย่างไร?

    อาการของเริมสามารถเป็นได้หลายแบบขึ้นอยู่กับว่าเป็นการเกิดโรคครั้งแรก หรือว่าเคยเป็นมาก่อน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเริ่มเป็นครั้งแรกในช่วงวัยเด็ก หรือวัยรุ่น โรคเริมที่เป็นครั้งแรกจะมีระยะเวลาฝักตัวประมาณ 3 – 7 วัน หลังได้รับเชื้อ ซึ่งส่วนมากมักไม่มีอาการ 

    แต่ถ้ามีอาการก็จะรุนแรงจะมีอาการดังนี้ 

    • พบกลุ่มตุ่มน้ำแตกเป็นแผลตื้นๆ 
    • มีอาการเจ็บ ปวด แสบร้อนบริเวณรอยโรค
    • มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย 
    • อาจมีต่อมน้ำเหลืองโต

    โดยแผลจะค่อยๆ แห้ง ตกสะเก็ด และหายในระยะเวลาประมาณ 2 – 6 สัปดาห์ 

    โรคเริมสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ แต่จะมีอาการน้อยกว่าเป็นครั้งแรก ขนาดตุ่มจะเล็กกว่า จำนวนเม็ดก็น้อยกว่าและไม่มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เป็นไข้ ผู้ป่วยอาจมีอาการนำ เช่น คัน ปวดแสบร้อน บริเวณที่จะเป็น หลังจากนั้นก็จะเกิดตุ่มน้ำขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกับตำแหน่งเดิม 

    เริมกับร้อนในแตกต่างกันอย่างไร?

    เริมไม่เหมือนกับร้อนใน ร้อนในเป็นตุ่มสีแดง หรือขาวที่เจ็บและเกิดขึ้นด้านในปาก โดยปกติแล้วร้อนในมักจะเกิดที่เหงือก ด้านในของริมฝีปาก หรือแก้ม หรือบนลิ้น และไม่ได้ทำให้เกิดเป็นตุ่มน้ำ หรือเป็นสะเก็ด และร้อนในนั้นไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ Herpes และไม่ใช่โรคติดต่อ

    การรักษาโรคเริม

    แม้ว่าจะไม่มียารักษาเริมให้หายขาดได้ในปัจจุบัน แต่ยังมีวิธีในการจัดการกับอาการที่เกิดขึ้น ยารักษาโรคเริมจะช่วยให้อาการหายได้เร็วขึ้น และ ช่วยลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ แพทย์จะเป็นผู้แนะนำยาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ

    ในขณะที่กำลังมีอาการแผลตุ่มพอง ตุ่มน้ำ แพทย์จะพิจารณาจ่ายยาให้คุณเพื่อให้แผลหายเร็วขึ้น คุณสามารถบรรเทาอาการปวดได้โดยวิธีดังนี้

    • อาบน้ำอุ่น
    • พยายามดูแลให้บริเวณอวัยวะเพศแห้ง ไม่อับชื้น เพราะความชื้นจะทำให้แผลหายช้า
    • สวมเสื้อผ้านุ่ม และหลวมๆ
    • ประคบเย็นบริเวณแผล (เช่น ใช้ถุงเจลประคบเย็น)
    • รับประทานยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน (aspirin), ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หรือ พาราเซตามอล (paracetamol)

    จองตรวจ เริม หรือตรวจเอชไอวีง่ายๆใกล้บ้านคุณ ได้ที่นี่ > > https://love2test.org/th/clinic

    อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจที่นี่

    continue reading
    โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    “หูดหงอนไก่” โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่น่ากลัวไม่แพ้โรคเอื่นๆ

    หูดหงอนไก่ เป็นหูดที่พบได้บ่อยบริเวณอวัยวะเพศ โดยเกิดจากเชื้อไวรัส ‘HPV’ (Human Papilloma Virus) จัดว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยมากที่สุด ส่วนใหญ่จะพบในช่วงวัยที่กำลังเจริญพันธุ์ คือ ช่วงอายุ 17 – 33 ปี ทั้งชายและหญิง แต่พบได้ในเพศหญิงเสียมากกว่า บางครั้ง หูดหงอนไก่ อาจเรียกในชื่ออื่นได้อีกว่า หงอนไก่ , หูดอวัยวะเพศ หรือหูดกามโรค

    ปัจจุบันมีการค้นพบสายพันธุ์ของไวรัส HPV ได้ประมาณ 100 สายพันธุ์ย่อย บางสายพันธุ์อาจทำให้เกิดหูดที่บริเวณผิวหนัง บางสายพันธุ์ก็อาจทำให้เกิดหูดหงอนไก่ ส่วนบางสายพันธุ์ก็จะเข้าไปทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งในระบบสืบพันธุ์ อาทิ มะเร็งปากมดลูก อีกทั้งยังเสี่ยงที่จะทำให้เกิดมะเร็งทวารหนักได้อีกด้วย

    ปริมาณ 90% ของผู้ที่เป็นหูดหงอนไก่นั้นพบว่าเกิดจากเชื้อไวรัส HPV 6 และ 11 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อย ความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสนี้จะเข้าไปทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งค่อนข้างต่ำ เชื้อ HPV ในชนิดที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์และทางเดินอุจจาระก็คือ HPV 16 และ 18

    ในระยะเริ่มต้น เมื่อผิวหนังได้รับเชื้อ หรือติดเชื้อ HPV ผ่านทางรอยถลอกที่ผิวหนัง ก็จะมีระยะฟักตัวของเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการว่าเป็นโรคใดโรคหนึ่งเป็นเวลาหลายเดือน หรืออาจจะหลายปี ซึ่งเมื่อผ่านระยะฟักตัวมาแล้ว เชื้อไวรัสก็จะมีการแบ่งตัวให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การสร้างเซลล์ในชั้นผิวหนังเกิดความผิดปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้วร่างกายจะสามารถกำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้เอง มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงหลงเหลืออยู่ หากว่าเผลอไปติดไวรัสที่เป็นสายพันธุ์รุนแรงเข้าก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งในตำแหน่งที่ติดเชื้อได้

    แหล่งที่มาของเชื้อ HPV นั้นติดต่อได้จากการสัมผัสรอยของโรคโดยตรง คือ ทางการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ติดเชื้อนี้ ซึ่งเมื้อมาดูที่ ‘หูดหงอนไก่’ ถึงแม้ว่าจะเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับชนิดอื่นๆ ของหูดทั่วไป แต่การติดต่อหลักๆ ก็มาจากการมีเพศสัมพันธ์ ส่วนการใช้สิ่งของร่วมกัน อาทิ ฝาสุขภัณฑ์ นั้นไม่อาจทำให้เกิดการติดต่อโรคหูดหงอนไก่ได้

    ใครที่เสี่ยงจะเป็น “หูดหงอนไก่” ?

    • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อ HPV จากคู่นอนที่เป็นโรคนี้ได้
    • ผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ใน 1 ปีที่ผ่านมา
    • ผู้ที่มีพฤติกรรมข้องเกี่ยวกับการมีคู่นอนหลายคน ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นหูดหงอนไก่ได้

    ‘หูดหงอนไก่’ มีอาการอย่างไร ?

    • บริเวณที่จะเกิดหูดหงอนไก่จะมีอาการคัน หรืออาจไม่มีอาการใดๆ แสดงให้เห็นเลยก็ได้
    • โดยปกติแล้ว หูดหงอนไก่จะพบได้ตามบริเวณเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายที่สามารถสร้างเมือกที่เรียกว่า เนื้อเยื่อเมือก ได้ จึงพบหูดหงอนไก่ได้ตามบริเวณ อวัยวะเพศ , ท่อปัสสาวะ , ปากมดลูก , ทวารหนัก , ช่องปาก และในลำคอ อีกทั้งยังสามารถพบผู้ที่ป่วยเป็นหูดหงอนไก่ได้ในหลายๆ ตำแหน่งในผู้ป่วยรายเดียวกัน ยกตัวอย่าง หากพบว่าเป็นหูดหงอนไก่ที่บริเวณอวัยวะเพศของผู้ป่วย และมีประวัติว่าเคยมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักด้วย ก็อาจจะพบหูดหงอนไก่ที่บริเวณทวารหนักเพิ่มเติม
    • ลักษณะของ ‘หูดหงอนไก่’ จะมีได้หลายแบบ หลายรูปร่าง ซึ่งอาจจะมีลักษณะเป็นตุ่มเดียว หรือหลายตุ่ม  หรือมีขนาดใหญ่คล้ายกับดอกกะหล่ำ มีลักษณะเป็นหงอนไก่ มีสีชมพู หรือสีเนื้อที่มีลักษณะขรุขระ
    • อาการของผู้ที่เป็นหูดหงอนไก่โดยมากจะมีก้อนเนื้อที่ใหญ่ขึ้น หรือเพิ่มจำนวนมากขึ้นในสตรีที่ตั้งครรภ์ หรือในคนที่มีภูมิคุ้มกันโรคบกพร่อง

    ‘หูดหงอนไก่’ ป้องกันได้อย่างไร ?

    ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่มียาที่รักษาและช่วยป้องกันหูดหงอนไก่ได้อย่าง 100% ซึ่งเป็นเพราะว่าโรคนี้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ จากผิวหนังสู่ผิวหนัง หากมีคู่นอนหลายคน โอกาสที่จะติดเชื้อก็ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น หากต้องมีเพศสัมพันธ์ แนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันอยู่เสมอ ไม่ใช่แค่เป็นการป้องกันเชื้อไวรัส HPV ที่ก่อให้เกิดหูดหงอนไก่เท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้ด้วย

    เมื่อเป็น ‘หูดหงอนไก่’ ควรจะดูแลตัวเองอย่างไร ?

    • ติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแพทย์นัดก็ควรมาตามนั้นไม่ให้ขาดตกบกพร่อง
    • งดการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างที่ทำการรักษา หรือหากจำเป็นต้องมีจริงๆ ก็ควรป้องกันโดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ
    • ควรพาคู่นอนมาทำการตรวจและรักษาด้วยเสมอ เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อซ้ำไปมา
    • หากมีการสัมผัสรอยโรค ก็ให้ล้างบริเวณที่สัมผัสและล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง
    • รักษาความสะอาดด้วยการล้างมือโดยใช้เจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ
    • รักษาสุขอนามัยพื้นฐานอย่างเคร่งครัด

    เรื่องหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อให้เกิดการเข้าใจผิด และนำไปปฏิบัติกันอย่างไม่ถูกต้อง คือ การใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ห้องน้ำ , ฝารองนั่ง , สระว่ายน้ำ ไม่ทำให้ติดโรคหูดหงอนไก่

    จองตรวจ ‘หูดหงอนไก่’ หรือตรวจเอชไอวีง่ายๆใกล้บ้านคุณ ได้ที่นี่ > > https://love2test.org/th/clinic

    อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจที่นี่

    continue reading